7/20/2007

จอมคนแผ่นดินเดือด เล่ม 22 - mk's edition

คราวนี้อ่านต่อเนื่องจากเล่ม 21 แค่วันเดียว
อันดับแรกต้องประกาศว่าธงที่เคยฟันไว้หักคาเสา (หลิวอวี้x 3) เพราะเซี่ยจงสิ้วชิงตายหนีไปเสียก่อน จุดนี้ผมชอบในทักษะการประพันธ์ของหวงอี้มาก
  1. ความสำเร็จของหลิวอวี้ขึ้นถึงจุดพีค เมื่อเอาชนะหวนเสียน ยึดนครเจี้ยนคังได้เบ็ดเสร็จ
  2. แต่ความสำเร็จก็พังทลายลงต่อหน้า เมื่อสิ่งที่หลิวอวี้อยากได้ที่สุดคือเซี่ยจงสิ้ว กลับหลุดมือไป และที่สำคัญไม่ใช่ความผิดของหลิวอวี้เอง เป็นปัจจัยที่คุมไม่ได้ จุดนี้จะคล้ายๆ นิยายประเภท tragedy ทั่วไป นั่นคือของที่ไม่ได้มันจะตรึงตราตรึงใจกว่า
  3. จากนั้นก็มีเหตุการณ์ที่ปลอบประโลมหลิวอวี้เข้ามาแทบจะทันที นั่นคือรู้ข่าวว่าเจียงหวินชิงท้อง
จะเห็นว่าในระยะเวลาไม่กี่หน้า หลิวอวี้เปลี่ยนจากตัวละครมิติแบน (เก่งการทหาร เลยรบชนะ) มาเป็นตัวละครที่รู้จักผิดหวังและสมหวัง เตรียมการทางอารมณ์ที่จะขึ้นมาเป็นฮ่องเต้ต่อไป

ประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เรื่องยุทธศาสตร์การวางตัวของหลิวอวี้ อันนี้เนื้อเรื่องมีความลุ่มลึกมากขึ้น นั่นคือหลังจากชนะศัตรูที่จับต้องได้ สู้กันด้วยกำลังอย่างหวนเสียนแล้ว หลิวอวี้ก็ต้องเจอกับศัตรูที่ยิ่งใหญ่กว่า เอาชนะด้วยกำลังไม่ได้ ต้องใช้นโยบายและกุศโลบายมากมาย อีกทั้งเทคนิคสกปรกอื่นๆ ประโยคที่แสดงแนวคิดเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือเยิ่นชิงซื่อบอกว่าการพิชิตอำนาจนั้นง่าย แต่การปกครองอำนาจนั้นยากกว่า

อีกประเด็นหนึ่งจะให้สังเกตวิธีคิดในเชิง "ซ่อนตัวเร้นกาย" ของตัวเอกของหวงอี้แทบทุกเรื่อง
  • พระเอกในเรื่องขุนศึกสะท้านปฐพี - เอาชนะการศึกสุดท้ายได้ ก็พาเมียๆ ไปหักล้างถางพง
  • เทพมารสะท้านภพ - ทั้งล่างฟานหวินและหานป๋อ ก็มาแนวๆ ไม่อยากได้อำนาจทางการปกครองแต่แรก
  • เจาะเวลาหาจิ๋นซี - เซี่ยงเส้าหลงถึงแม้จะไม่อยากเร้นกายนัก (โดนบีบจากจิ๋นซี) แต่สุดท้ายก็ต้องไปตั้งรกรากในป่าอยู่ดี
  • มังกรคู่ - โค่วจงเป็นตัวอย่างที่ชัดที่สุด นั่นคือเอาชนะทางการทหารได้แล้ว แต่ไม่อยากปกครอง จึงส่งอำนาจให้กับหลี่ซื่อหมินไป
  • จอมคนแผ่นดินเดือด - หลิวอวี้ร่ำๆ จะหนีไปสุดขอบฟ้าอยู่แล้ว อาจเป็นส่วนกลับของโค่วจงที่อยากเร้นกาย แต่สุดท้ายก็ไปไม่ได้
แนวคิด "ซ่อนตัวเร้นกาย" ถูกผลิตซ้ำบ่อยมากในงานหวงอี้ทุกชิ้น นั่นอาจมองได้ว่าเป็นวิธีคิดพื้นฐานของตัวหวงอี้เองที่สุดท้ายแล้วเน้นสุขนิยมมากกว่าก็เป็นได้

หมดเรื่องฝั่งหลิวอวี้ ก็มาฝั่งทางเหนือซึ่งไม่มีอะไรมาก เพราะเอี้ยนเฟยจับมือสั้งหวี่เถียน จับมือกับทัวปากุย แถมเป็นฝ่ายพระเอก มู่หยงฉุยก็คงรอดยาก ที่น่ารำคาญก็คือเล่มนี้สนทนากันยืดยาวแต่ไม่ค่อยได้สาระ โดยเฉพาะบทบาทของจั่วขวงเซิงเล่มนี้มีเยอะแต่ไม่ค่อยมีประโยชน์ อ่านแล้วเกิดความรู้สึกว่าเมื่อไรจะจบเสียที

สรุปว่าพีคของจอมคนอยู่ที่เล่ม 20 ที่หลิวอวี้พลิกสถานการณ์ได้สำเร็จ เล่ม 21 กับ 22 เหตุการณ์ก็ก้าวหน้าขึ้นเยอะโดยเฉพาะฝ่ายใต้ แต่มีส่วนยืดอยู่มาก น่าจะสามารถยุบรวมให้กระชับเหลือเล่มเดียวได้

ป.ล. จุดโหว่ที่อ่านแล้วขัดๆ ก็คือฉีเต้าฟู่ที่ช่วงแรกดูจะน่ากลัวมาก เอาจริงแล้วตายอนาถแถมไม่มีบทอีกต่างหาก

2 comments:

  1. - ผมมีความเห็นว่า งานของหวงอี้ในตอนเกือบทุกเรื่อง ค่อนข้างจะลวกๆ ไปหน่อย คล้ายๆ กับคนเขียนถูกบีบ หรือเร่งรัดให้จบลงให้ได้ มันก็เลยมีประเด็นที่อาจจะดูแล้ว ไม่ค่อยประณีตในงานประพันธ์
    - ทัวปากุย ตามประวัติ เสียชีวิตเมื่ออายุ 30 กว่าๆ ก็น่าติดตามนะว่าหวงอี้ จะวางจุดจบของทัวปากุยไว้อย่างไร
    - การอ่านจอมคนแผ่นดินเดือด ควรจะหาความรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์จีน ในช่วงนี้ไว้บ้าง เอาไว้เป็นต้นทุนในการอ่านให้สนุกครับ เว็บที่แนะประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ ผมแนะนำที่นี่ครับ
    http://www.showwallpaper.com/view.php?topic=3168

    ReplyDelete
  2. (ในที่สุดก็ไล่อ่านทันถึงเล่ม 22)

    อืม ในเล่มนี้ บทจั่วขวงเซิงก็ช่วยให้ได้เห็นถึงผลกระทบ ที่เกิดจากการรับรู้การคงอยู่ของประตูทิพย์ แต่ก่อนหน้านั้นมันก็ตื้อซะจนคนอ่านแทบจะรำคาญแทนเอี้ยนเฟย

    บทหลิวอวี้ในเล่มนี้แสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ปุถุชนออกมาอย่างเต็มๆ ทั้งอารมณ์ ความรู้สึก ความผิดหวัง ความสมหวัง ความอัดอั้นตันใจ เหมือนจะยัดๆใส่ลงไปในตัวหลัวอวี้อยู่คนเดียว จนตอนที่อ่านรู้สึกว่า ... พอได้แล้วมั้ง พร่ำพรรณนากับตัวเองบ่อยมากจนเริ่มเบื่อ

    มีความรู้สึกว่ามันไม่กระชับรวบรัด เท่ากับช่วงแรกๆ แต่ก็มีมิติอื่นๆให้ได้เสพจากนิยายจีนกำลังภายใน (แต่ไม่ชอบนี่สิ)

    ... ทัวปากุยท่าทางจะกลายเป็นเด็กติดยาซะแล้ว

    ReplyDelete